Tue. Apr 23rd, 2024

F.M. 103 Mhz. สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น KKU Radio

สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น

KKU Focus – 12ปี ศิลปินมรดกอีสานผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์

 

12ปี ศิลปินมรดกอีสานผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมตามรอยเจ้าฟ้านักอนุรักษ์ฯ ปลุกแรงใจให้ศิลปินไม่ละทิ้งมรดก

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเอาพระทัยใส่ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ โปรดพระราชทานแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบทอดภารกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งยังทรงแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และสืบทอดงานศิลปวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล มีพระอัจฉริยภาพทางอักษรศาสตร์และทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมทั้งสารคดีและบันเทิงคดีที่ทรงคุณค่าด้านวรรณศิลป์ จนเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยและชาวต่างชาติ  ด้วยเหตุดังกล่าววันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น
           1ใน4ของพันธกิจมหาวิทยาลัยขอนแก่นนับแต่เริ่มก่อตั้ง คือการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมทั้งศิลปของชาติและศิลปพื้นถิ่นให้คงอยู่และมีการสืบสานต่อไปทั้งในด้านวิชาการด้วยการศึกษารวบรวมค้นคว้าวิจัย และด้านกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของสถาบัน พันธกิจด้านนี้ได้ถูกขับเคลื่อนผ่านแผนนโยบายมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่3ของการบริหารมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน คือ การเป็นองค์กรที่ห่วงใยและดูแลชุมชนรวมทั้งส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม
           การส่งเสริมเชิดชูผู้ที่มีบทบาทในการสืบสานอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมถือเป็นทิศทางหนึ่งในการสนองแนว พระราชดำริฯและสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยมีความมุ่งหวังที่จะให้กำลังใจผู้มีผลงานศิลปวัฒนธรรมตลอดจนองค์กรที่ร่วมขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์สืบสาน และเป็นการจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ได้เกิดความสนใจในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ฝังเมล็ดพันธุ์ความรักความหวงแหนมรดกที่บรรพชนส่งต่อมา ดังนั้นในทุกปีมหาวิทยาขอนแก่นจึงได้เชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ขึ้นโดยถือเอาวันสำคัญของชาติคือ “วันอนุรักษ์มรดกไทย” และยังเป็นการเทิดพระเกียรติของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักอนุรักษ์มรดกไทยในวโรกาสเดียวกันนี้ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดจัดไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 มีศิลปินได้รับโล่เชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานจาก3สาขารวมจำนวน 7 ราย ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์จาก5สาขารวมจำนวน 15ราย รางวัลอมรศิลปินมรดกอีสานจำนวน 2 ราย โดยได้จัดพิธีที่โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นมาเป็นประธานนำถวายอาศิรวาทราชสดุดีและคำถวายชัยมงคลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีผู้มาร่วมงานทั้งศิลปินและแขกผู้มาร่วมยินดีเป็นจำนวนมาก
           รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ปัจจุบันการแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมในกระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงจากภูมิปัญญาดั้งเดิมไปสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมได้รับผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการดำรงรักษาวัฒนธรรมให้อยู่อย่างยั่งยืนมั่นคง จึงต้องมีการให้คุณค่า และความสำคัญกับภุมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม การที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดงานขึ้นทุกปี ถือเป็นพันธกิจสำคัญในการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัมนธรรมอีสานให้คงอยู่ และสร้างความเข้มแข็งให้สังคมในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า”
          มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ขึ้น มาตั้งแต่ พ.ศ.2448 เพื่อการยกย่องผู้ที่สร้างสรรค์และสืบสานมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นอีสาน เพื่อการสร้างความหมายต่อการรับรู้ของคนในยุคปัจจุบันต่อคนที่มีความสามารถซึ่งถูกเรียกว่า “หมอ” “ช่าง”และ “ครู” ที่เราเรียกรวมกันว่าศิลปิน ตลอดจนนักวรรณกรรมที่เสมือนผู้เป็นสะพานเชื่อมต่ออดีตมาสู่ปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาตลอด12ปี(พ.ศ.2448 – 2560) มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน 145 ราย  อมรศิลปินมรดกอีสาน 7 ราย มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์จำนวน 124 บุคคลและองค์กร โดยแบ่งศิลปินออกเป็นสาขาแตกต่างกันอาทิ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ศิลปะการแสดง ส่วนวัฒนธรรมสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น เกษตรกรรม หัตถกรรม การแพทย์และเภสัชกรรมไทย นิเวศน์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม วิสาหกิจชุมชน ศิลปกรรม ภาษาและวรรณกรรม ศาสนาประเพณี อาหารและโภชนาการ สื่อสารวัฒนธรรม
          นาง อุไร ฉิมหลวง หรือที่รู้จักในนาม “นกน้อย อุไรพร”คือผู้ที่ได้รับเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานในปีนี้ สาขาศิลปะการแสดง กล่าวว่า  “เป็นความภาคภุมิใจสูงสุดในชีวิต ที่ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นและทุกคนที่มีส่วนในการมอบกำลังใจครั้งนี้ เป็นกำลังใจเพื่อทำหน้าที่สืบสานมรดกสู่ลูกหลาน ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นจะช่วยช่วยส่งต่องานวัฒนธรรมจากคนรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี”
         ในทุกปีของการจัดกิจกรรมที่ขับเคลื่อนโดย ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้นโยบายของฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์  จะเปิดโอกาสให้นักศึกษา เยาวชน ได้เข้ามาสัมผัสและรู้จักกับศิลปินเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมทั้งได้ชมการแสดงของศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินแห่งชาติ และวงดนตรีพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงอาทิวงโปงลางสินไซ
         นางสาวกิติยา  กุญมอญ  นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มข.ซึ่งได้มีโอกาสร่วมในกิจกรรมครั้งนี้แสดงความคิดเห็นว่า “การจัดกิจกรรมทำให้เราได้มีโอกาสมาเจอบุคคลในตำนานที่เราไม่เคยเจอ แต่ได้ยินชื่อเสียงที่ทำให้เราได้รู้จักท่านมากขึ้น เป็นบรรยากาศที่เหมือนกับการคืนวัฒนธรรมที่หายไปกลับมาในเวลาหนึ่ง ช่วยปลุกความคิดที่อยากจะสานต่อศิลปวัฒนธรรมของคนอีสานให้อยู่ต่อไป”
         นายบัญชา  พระพล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ เน้นที่ผู้มีผลงานในแผ่นดินอีสานที่จะให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไป ที่เน้นให้ศิลปินเกิดกำลังใจและประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงคุณค่า กระตุ้นให้รำลึกถึงรากเง้าความเป็นตัวตนของคนไทยและคนอีสานโดยมีศิลปวัฒนธรรมเป็นสื่อเพื่อเชื่อมโยงแม้เราจะอยู่ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมที่หลากหลายก็จะยังรำลึกและหวงแหนสิ่งที่บรรพชนให้มา ซึ่งการจัดงานทุกปีได้พยายามเฟ้นหาบุคคลที่มีผลงานเพื่อให้คณะกรรมการเสนอชื่อและกลั่นกรอง ซึ่งมีรองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก อาทิ วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น นายกสมาคมศิลปินอีสาน นายกสมาคมหมอลำ นายกสโมสรนักเขียน คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมกันพิจารณาซึ่งเชื่อว่าในแผ่นดินอีสานยังมีบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่นที่ฝังรากอยู่กับศิลปวัฒนธรรมที่ให้เราได้ค้นหามาประกาศเกียรติในงานนี้อีกมาก
อุดมชัย สุพรรณวงศ์ : เรียบเรียง
อรรถพล ฮามพงษ์ : ภาพ