Tue. May 7th, 2024

F.M. 103 Mhz. สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น KKU Radio

สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในสังคมไทย

 

ออกอากาศวันที่ 25 และ 27 กุมภาพันธ์ 2563

มข.บูรณาการกิจกรรม“กิน กอด เล่น เล่า อ้อมกอดชาวใต้สู่ใจลูกอีสาน”ดูแลเด็กบ้านแคนทอง สร้างความตระหนักช่วยกันแก้ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ผ่านวิทยุ มข.

ปัจจุบันปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง และ เด็กในสภาวะเปราะบางทางด้านจิตใจ มีความเสี่ยงจากการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ถูกทารุณกรรม หรือเกิดจากความไม่พร้อมของครอบครัวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก อย่างเช่น เด็กในสถานสงเคราะห์มีต้นทุนชีวิตที่หลากหลาย เช่น พ่อ แม่ แยกทาง ติดยาเสพติด อยู่กับตายาย หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ฉะนั้นพัฒนาการของเด็กที่เราเคยเชื่อว่า 1,000 วันแรก สำคัญที่สุดจึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงมาก เพราะเด็กเหล่านี้มีต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากันในเรื่องของจิตใจ อารมณ์ และร่างกาย  มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะพยาบาลศาสตร์ และ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้าไปจัดกิจกรรมบริการวิชาการ ด้านส่งเสริมจิตอาสาสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กบ้านแคนทอง จังหวัดขอนแก่น โดยการนำข้าราชการและพลเรือน (กพ.) ที่จัดโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี 2563 ร่วมเป็นจิตอาสาจำนวน 500 คน  ระหว่างเดือนมกราคม –เดือนมีนาคม 2563 โดยทำกิจกรรม กิน กอด เล่น เล่า ให้กับเด็กในความอุปการะ อายุแรกเกิดถึง 6 ปี  เพื่อให้ผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน พร้อมทั้งเสริมสร้างความสมานฉันท์ ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ เจ้าหน้าที่และเด็กในความอุปการะและเพื่อให้การดำรงชีวิตประจำวันอย่างปกติสุข เกิดความรัก ความผูกพันและความอบอุ่นทางด้านจิตใจ

รายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน ได้เปิดเวทีพูดคุยปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในสังคมไทย  เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมี  ผศ.ดร.จุฬาภรณ์  ตั้งภักดี ผู้ช่วยคณบดีคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ นวัตกรรมและบริการวิชาการ หัวหน้ากลุ่มวิจัยการพยาบาลทารกและเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ นางสาวเดือนเพ็ญดาว ชิวพิมาย นักวิชาการการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายศุภชัย ปทุมชาติ ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กบ้านแคนทอง นายสมชาติ ชัยอยุทธ์ ประธานชุมชนสามเหลี่ยม 1 เทศบาลนครขอนแก่น มาร่วมพูดคุยในเรื่อง ปัญหาเด็กที่ถูกทอดทิ้งในสังคม โดยในช่วงแรกของรายการได้มีการสะท้อนปัญหาเด็กที่ถูกทอดทิ้งในชุมชนเมือง อย่างชุมชนสามเหลี่ยม 3 เทศบาลนครขอนแก่น

นายสมชาติ ชัยอยุทธ์ ประธานชุมชนสามเหลี่ยม 3 เทศบาลนครขอนแก่น

โดยนายสมชาติ ชัยอยุทธ์ ประธานชุมชนสามเหลี่ยม 3 เทศบาลนครขอนแก่น   ได้เล่าถึงปัญหาเด็กที่ถูกทอดทิ้งในสังคม ส่วนใหญ่มาจากผู้ปกครองที่ไม่มีความพร้อมในการมีลูกในขณะที่ยังไม่พร้อม ไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูก็จะทำให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม หรือต้องเอาเด็กทารกไปทิ้งตั้งแต่แรกคลอด เพื่อตัดปัญหา ซึ่งผิดกฎหมาย  เยาวชนที่อายุยังน้อยแต่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ตั้งท้องในขณะที่ยังไม่พร้อม โตมาปู่ย่า ตายาย ก็จะเป็นผู้เลี้ยงดู ซึ่งอายุมากแล้ว ไม่ทันเทคโนโลยี ตามเด็กไม่ทัน ก็จะเป็นเด็กที่มีปัญหา ในฐานะที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูแลเด็กในกลลุ่มเสี่ยงในชุมชน เราจะพบว่าเด็กกลุ่มนี้ส่วนมามีสาเหตุมาจากการไปยุ่งเกี่ยวกับ 3 ก คือ เกม กาว และ กาม  เช่น โดดเรียนไปเข้าร้านเกม ติดบุหรี่ ติดยาเสพติด และนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ ที่ไม่ถูกต้อง จากปัญหาดังกล่าว  เทศบาลนครขอนแก่น จึงจัดทีมสหวิชาชีพทุกภาคส่วนให้การดูแลภายใต้ชื่อ “บ้านให้โอกาสเด็กและเยาวชนเทศบาลนครขอนแก่น” เด็กเรียกว่า “บ้านเรา”เพื่อไปพัฒนาและปรับปรุงพฤติกรรมในความเป็นอยู่ ฝึกอาชีพ และฝึกทักษะการใช้ชีวิต จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 ประมาณ 9 ปีแล้วครับ

นายศุภชัย ประทุมชาติ ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กบ้านแคนทอง จังหวัดขอนแก่น

ในด้านการรองรับและแก้ปัญหาของภาครัฐ   นายศุภชัย ประทุมชาติ  ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กบ้านแคนทอง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สถานสงเคราะห์บ้านแคนทอง จังหวัดขอนแก่น สังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเด็กที่ประสบปัญหาทางสังคม โดยอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ได้ขับเคลื่อนอุดมการณ์ในการดูแลเด็ก ที่ได้เข้ามาอยู่ในสถานสงเคราะห์นี้ซึ่งจะเป็นเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือเด็กที่ถูกทอดทิ้งตามที่สาธารณะ ตามโรงพยาบาล หรือสถานที่อื่น ๆ ต่อมาเด็กที่กำพร้าพ่อแม่ เสียชีวิต ไม่มีญาติพี่น้อง และสุดท้ายเด็กที่ประสบปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น ครอบครัวแตกแยก ฐานะยากจน เลี้ยงดูไม่เหมาะสม พ่อแม่มีโรคประจำตัว ค้ายาเสพติด ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ และตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ที่ไม่สามารถที่จะดูแลได้ ขณะนี้มีเด็กที่อยู่ในความดูแลอยู่ประมาณ 153 คน ทั้งชายและหญิง สถานสงเคราะห์บ้านแคนทอง ได้ดูแลด้านปัจจัย 4 อาหาร พัฒนาการทางด้านร่างกาย การศึกษา การปฐมพยาบาลต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลทางด้านฝ่ายกิจการและสังคม และฝ่ายส่งเสริมสุขภาพมีพี่เลี้ยงให้การดูแลเด็กในแต่ละช่วงอายุ มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ในเชิงรุกคือ การออกนอกพื้นที่ประชาสัมพันธ์ตามหน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัดขอนแก่น ถ้ามีข่าวการทอดทิ้งเด็ก สามารถแจ้งมาได้ที่บ้านแคนทอง  จะมีทีมสหวิชาชีพ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บ้านพักเด็กและครอบครัว บ้านแคนทอง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวมตัวเข้าไปช่วยเหลือ สำหรับเด็กที่อยู่ในบ้านแคนทองส่วนใหญ่จะมีพ่อแม่อยู่ แต่พ่อแม่ไม่สามารถที่จะดูแลได้ ที่ฝากไว้กับเราประมาณ 85% คือการฝากไว้ชั่วคราว ซึ่งเราจะมีการติดตามผลทุก ๆ  1 ปี ลงไปเยี่ยม ว่าท่านสามารถที่จะรับลูกคืนได้ไหม เนื่องจากว่ามีบุคลากรที่จำกัด เด็กมีจำนวนมาก เจ้าหน้า 1 คน ดูแลเด็ก 10 คน ถ้าครอบครัวรับกลับคืนได้ก็ประสบความสำเร็จในการคืนสู่ครอบครัว

ผศ.ดร.จุฬาภรณ์ ตั้งภักดี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ นวัตกรรมและบริการวิชาการ หัวหน้ากลุ่มวิจัยการพยาบาลสุขภาพทารกและเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์

จากปัญหาการทอดทิ้งเด็กในสังคม ทำให้เกิดเป็นโจทย์วิจัย ที่ ผศ. ดร. จุฬาภรณ์  ตั้งภักดี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ นวัตกรรมและบริการวิชาการ หัวหน้ากลุ่มวิจัยการพยาบาลสุขภาพทารกและเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สนใจลงไปศึกษาและทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่าย   โดย ผศ.ดร.จุฬาภรณ์ ตั้งภักดี  กล่าว่าปัจจุบันนี้องค์ความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพเด็ก มิติของการดูแลเด็กในสภาวะเปราะบางด้อยโอกาส เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการช่วยป้องกันการเกิดปัญหาในระยะยาว จากประสบการณ์ที่ได้ทำกิจกรรมทางด้านการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาที่ส่งเสริมเรื่อง การพยาบาลเด็ก ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง และการวิจัยที่ได้รับทุนการวิจัยอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการขับเคลื่อนวิจัยร่วมกันกับสถานสงเคราะห์เด็กบ้านแคนทอง ในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและผู้ดูแล สุดท้ายก็คือการบริการวิชาการที่ผนวกการจัดการเรียนการสอนของคณะพยาบาลศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา และการบูรณาการทำงานร่วมกับสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ได้เข้าไปจัดกิจกรรมบริการวิชาการ ด้านส่งเสริมจิตอาสาสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กบ้านแคนทอง จังหวัดขอนแก่น โดยการนำข้าราชการและพลเรือน (กพ.) ที่จัดโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพข้า ราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี 2563 ร่วมเป็นจิตอาสา ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

นางสาวเดือนเพ็ญดาว ชิวพิมาน นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักบริการวิชาการ

ด้าน นางสาวเดือนเพ็ญดาว ชิวพิมาน นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวต่อถึงการทำงาน ในนามสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 13 ปี มีทั้งหมด 86 รุ่น ประมาณ 8,600 คน ที่เรามีเครือข่ายเป็นข้าราชการในจังหวัดชายแดนใต้ ปีนี้เราได้โจทย์จากสำนักงาน กพ. ที่ต้องการจะมีกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสร้างความอบอุ่น ความอ่อนโยน ทางด้านจิตใจ และกลับไปสร้างเครือข่ายระหว่างพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนใต้ พอเราได้เข้าไปสัมผัสกับโครงการในคอนเซ็ปท์ เรื่อง กิน เล่น เล่า อ้อมกอดชาวใต้สู่ใจลูกอีสาน เราแค่ต้องการให้พี่ ๆ เหล่าข้าราชการชายแดนใต้ได้เข้าใจว่าเด็กต้องการอะไร บ้านแคนทองคืออะไร จึงทำให้เป็นกิจกรรมที่บรรลุวัตถุประสงค์เป็นอย่างมาก

การทอดทิ้งเด็กไว้เพียงลำพัง ซึ่งเด็กไม่สามารถดูแลหรือป้องกันตัวเองได้ โดยเฉพาะเด็กทารก  รัฐจำเป็นต้องให้โอกาสและพื้นที่ในการดูแลเด็กให้ปลอดภัย  ถ้าครอบครัวมีความพร้อมก็จะส่งเด็กกลับให้เร็วที่สุด แต่อัตราของการดูแลเด็กของเจ้าหน้าที่จำนวนไม่เคยลดลง หรือมีความต่อเนื่องในการรับเด็กเข้ามาใหม่อยู่ตลอด  การจัดการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ ที่คณะพยาบาลศาสตร์และศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับสถานสงเคราะห์เด็กบ้านแคนทอง  ถือว่าเป็นการบูรณาการ นำเอาองค์ความรู้และกำลังคนเข้าไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดูแลเด็ก และเด็กก็เกิดความอบอุ่นในหัวใจ ทดแทนสิ่งที่เขาขาดนั้นคือครอบครัว ที่อบอุ่น  หากพบเห็นเด็กถูกทอดทิ้ง สามารถโทรแจ้ง 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าว  : ชุตินันท์ พันธ์จรุง /วนิดา บานเย็น
ถ่ายภาพ : ชุตินันท์ พันธ์จรุง
ขอบคุณภาพข่าวจาก ผศ.ดร.จุฬาภรณ์  ตั้งภักดี