
การสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติหรือ PISA (Programme for International Student Assessment) เป็นการวัดระดับความรู้ของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลก จัดสอบขึ้นทุก 3 ปี โดยในปี 2558 เป็นปีที่มีการจัดสอบล่าสุด มีผู้เข้าสอบจาก 72 ประเทศ จำนวนกว่า 540,000 คน ปรากฏว่าผลสอบของเด็กนักเรียนไทย ไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นจากปีก่อนๆ โดยในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน อยู่อันดับ 52 54 และ 57 ตามลำดับ ขณะที่เด็กนักเรียนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามสอบได้อันดับ 8 22 และ 32 ตามอันดับ แม้จะมีภูมิศาสตร์วัฒนธรรม และระบบการศึกษาใกล้เคียงกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กไทยมีทักษะด้านการวิเคราะห์อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ทั้งที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามพัฒนาการศึกษาเป็นเวลาหลายสิบปี
มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงจัดทำนวัตกรรม KKU Smart Learning โดยดำเนินการพัฒนารูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ ลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน ภายใต้บริบทนักเรียนและโรงเรียนที่แตกต่างกัน รวมทั้งอบรมพัฒนาศักยภาพครูให้สามารถออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้โดยผสานร่วมระหว่างแนวคิดของ KKU Smart Learning กับความรู้และประสบการณ์เดิม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ตลอดชีวิตให้แก่เด็กไทย
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นผู้นำด้านการเรียนการสอนการวิจัยในชั้นเรียนที่ได้ผลจริง โดยมีแนวโน้มและผลวิจัยยืนยันชัดเจนว่านวัตกรรมการเรียนการสอนดังกล่าว สามารถช่วยให้เด็กไทยเกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับยุคประเทศไทย 4.0 โดยมั่นใจว่าจะสามารถเป็นต้นแบบขยายผลให้กับมหาวิทยาลัยภูมิภาคอื่นๆ เป็นตัวอย่างการพัฒนาการศึกษาไทยให้เติบโต ก้าวไกล ครอบคลุมทั่วประเทศในที่สุด
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้การดำเนินโครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learning เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของนักเรียนใน 3 กลุ่มสาระวิชาได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ สนับสนุนให้ครูใช้นวัตกรรม KKU Smart Learning เพื่อจัดการเรียนรู้ และพัฒนาความรู้ความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่ โดยในระยะแรกมีเป้าหมายการดำเนินงานกับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในเขตจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ มีครูเข้าร่วมโครงการ 270 คน และนักเรียนจำนวน 6,000 คนใน 45 โรงเรียน ปัจจุบันในปีการศึกษา 2561 มีเป้าหมายการขยายโครงการครอบคลุม 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 195 โรงเรียน นักเรียน 31,200 คนโดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการตามเป้าหมายโครงการในระยะเวลา 3 ปี จะมีครูเข้าร่วมโครงการ 4,050 คน นักเรียนกว่า 81,000 คนซึ่งมีครูสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก
นายกฤษฎา ดีทานิน ครูสอนคณิตศาสตร์ โรงเรียนบ้านลานวิทยาคม สพม.25 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการ KKU Smart Learning เมื่อปี 2560 เป็นต้นมา โดยเชื่อมั่นว่านวัตกรรมการเรียนการสอนที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาของอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะนำไปใช้จริงในพื้นที่และเกิดผลต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาได้จริง จึงนำมาใช้ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของนักเรียนในสาระวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งนักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน และมีทักษะการคิดวิเคราะห์เพิ่มมากขึ้น
“ในชั้นเรียนครูจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา มีการนำเทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมาใช้ ซึ่งเด็กจะคิดว่า เวลาเรียนห้ามเล่นโทรศัพท์ แต่วิธี Smart Learning คือ นำสื่อการเรียนรู้เข้าไปในโทรศัพท์ ฉะนั้นทั้งชั้นเรียน ใน 1 ชั่วโมง นักเรียนจะ เล่นโทรศัพท์ได้เลย แต่จะเป็นบทเรียนออนไลน์ ให้เรียน เป็นวัตกรรมที่ทันสมัยตอบโจทย์การเรียนในยุคนี้อย่างยิ่ง” ครูกฤษฎา กล่าว
KKU Smart Learning เป็นนวัตกรรมส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ ทักษะด้านสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยี รวมทั้งทักษะด้านชีวิตและอาชีพของนักเรียน ตลอดจนพัฒนาความสามารถของครูในการใช้นวัตกรรม KKU Smart Learning ในการจัดการเรียนรู้ และพัฒนาความรู้ความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่ในแต่ละเนื้อหาวิชาตลอดจนความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในการส่งเสริมการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชา และเพื่อพัฒนารูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์ นักวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย กับศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารและครูที่ทำหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ ทั้งหมดนี้มุ่งเป้าเพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนอย่างยั่งยืน
แม้สถานการณ์การคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ปัจจัยที่ส่งผลต่อทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยมีหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การดำเนินงาน KKU Smart Learning จึงถือเป็นความหวังหนึ่ง ที่คาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกันได้ในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งด้านนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน สถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ และสำคัญที่สุดคือผู้ใช้นวัตกรรมอย่าง ครู และ นักเรียน การพัฒนาระบบการศึกษาจึงไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หากเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ทุกคนที่ต้องดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน
บทความ : จิราพร ประทุมชัย
ภาพ : อรรพล ฮามพงษ์